NADI Workshop : Marine Environmental Protection, Nov. 21-23, 2017

การประชุม Track II Network of ASEAN Defence and Security Institutions (NADI) Workshop ในหัวข้อ “Marine Environmental Protection” และแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับสถาบันเครือข่ายทางวิชาการด้านความมั่นคงของประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่าง 21 - 23 พ.ย.60 (Nov. 21-23, 2017)  ณ เมืองตาเกเทย์ (Tagaytay) ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมี National Defense College of the Philippines (NDCP) และ Office for Strategic Studies and Strategy Management (OSSSM)  เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

      1. ที่ประชุม NADI Workshop มีข้อเสนอแนะร่วมกัน ดังนี้

        (1). ADMM ควรส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินเรือ โดยเฉพาะการจราจรของเรือสินค้าบริเวณช่องแคบมะละกา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางทะเล

      (2). ADMM ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ หน่วยยามฝั่ง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการติดตาม ป้องกันปัญหามลภาวะ และการกระทำผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล

     (3). ADMM ควรจะร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการปกป้องสภาพแวดล้อม และใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน

    (4). ควรขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ระหว่างกองทัพกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อม และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

        (5). ควรขยายความร่วมมือทวิภาคี/ พหุภาคีในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเล

      2. ศศย.สปท. ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในการปกป้อง และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ดังนี้

        (1). ไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” (ศร.ชล.) ขึ้นตั้งแต่ปี ๔๑ และกำลังยกระดับเป็น “ศูนย์อำนวยการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” ในปัจจุบัน เพื่อเป็นหน่วยงานในการประสานงาน และบูรณาการการดำเนินงานในเรื่องความมั่นคงทางทะเล และการป้องกันสภาพแวดล้อมทางทะเลกับหน่วยงานต่างๆ ของไทย

        (2).ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ไทยให้ความสำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ๑) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๒) ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ๓) สภาวะโลกร้อน และปะการังฟอกขาว ๔) การเกิดมลพิษบริเวณท่าเรือและสะพานปลา ๕) การรั่วไหลและคราบน้ำมันจากเรือเดินสมุทร การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ  และอุบัติเหตุทางทะเล ๖) การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และ ๗) ความปลอดภัยในการใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล และอาชญากรรมทางทะเลอื่นๆ

       (3). ประเทศสมาชิกอาเซียนควรพิจารณาว่าการแก้ไขปัญหา การรักษาสภาพแวดล้อม และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศหนึ่งประเทศใดไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ดังนั้นความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกในลักษณะเครือข่ายเพื่อการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นแนวทางที่ดีแนวทางหนึ่งในการประสานงาน และขยายความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน