The 12th NADI Annual Meeting and NADI Retreat, 25th Feb – 3rd Mar 2019, Chiang Mai, Thailand

        ศศย.สปท. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางวิชาการนานาชาติด้านความมั่นคงแห่งอาเซียน (Track II Network of ASEAN Defence and Security Institutions: NADI) ประจำปี ครั้งที่ ๑๒ (12th Annual Meeting) และการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Meeting) ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. - 3 มี.ค.62 ณ โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับสถาบันเครือข่ายทางวิชาการด้านความมั่นคงของประเทศสมาชิกอาเซียน และเพื่อให้ NADI สามารถให้การสนับสนุนด้านวิชาการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Minister’s Meeting: ADMM) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จำนวน 45 คน 

        สรุปประเด็นสำคัญจากการประชุมได้ดังนี้

        1. การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Foresight Framework” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ได้แก่

             1.1  พล.อ. เจิดวุธ  คราประยูร ที่ปรึกษาพิเศษ บก.ทท. ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการมองภาพอนาคต (Foresight) ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้ม หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอาเซียนในอนาคตได้ โดยเครื่องมือในการวิเคราะห์ภาพอนาคตที่ประเทศไทยใช้ ได้แก่ STEEP-M Framework ซึ่งเป็นการนำความมั่นคงด้านการทหารมาผนวกรวมในยุทธศาสตร์ชาติ โดยกระทรวงกลาโหมได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ได้คาดการณ์ไว้ สำหรับอาเซียนควรจะมีการวาดภาพอนาคตร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากถ้า NADI สามารถที่จะพิจารณาสร้างกรอบการวาดภาพอนาคตร่วมกันได้

  

            1.2 ดร.ถาวร ทันใจ ผู้อำนวยการกองตรวจการประมง กรมประมง ได้นำเสนอประสบการณ์และความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated: IUU) เช่น การแก้ไข พ.ร.ก. การทำประมงเพื่อรองรับการบูรณาการหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง การพัฒนาระบบต่าง ๆ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยสมบูรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่าอาเซียนควรให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืน และพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเรื่อง IUU fishing ของอาเซียน เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา IUU ในภูมิภาค


        2. การนำเสนอในช่วงที่สอง หัวข้อ “ASEAN Defence Security Foresighting in the Next 2 Decades มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

            2.1  ภัยคุกคามความมั่นคงของอาเซียนในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ได้แก่ (1) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในยุค Internet of Things (IoT) (2) การก่อการร้ายและอิทธิพลจากแนวคิดนิยมความรุนแรง (3) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (4) อาชญากรรมข้ามชาติ และ (5) อิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่จะเข้ามาในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ

            2.2  อาเซียนยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะการใช้กลไกด้านการทูตเชิงป้องกัน สำหรับด้านเศรษฐกิจ อาเซียนยังคงเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพสูง ซึ่งการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน จะเป็นปัจจัยที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับชาติสมาชิกอาเซียนในอีกสองทศวรรษข้างหน้า

            2.3  อาเซียนควรเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎบัตรอาเซียน และแผนงานด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน พร้อมกับการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเสาหลักทั้งสามของอาเซียน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับมือกับภัยคุกคาม และการรักษาความมั่นคงของอาเซียนในสองทศวรรษหน้าได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

            2.4  ควรใช้กลไกความร่วมมือของอาเซียนที่มีอยู่เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านไซเบอร์ โดยเริ่มความคิดให้ไกลไปกว่าความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนากฎ กติกา สำหรับการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือแม้แต่อุปกรณ์ทางทหารซึ่งอาจถูกคุกคามจาก Cyber warfare

        

        3. การนำเสนอในช่วงที่สาม หัวข้อ “Drivers that lead to Sustainable Security” มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

            3.1  ในมุมมองด้านการป้องกันประเทศนั้น ควรให้ความสำคัญกับการสร้างและการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานทหารและป้องกันประเทศ โดย (1) การฝึกร่วมทางการทหารระดับพหุภาคี (2) การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำ (3) อาเซียนจำเป็นต้องมองถึงความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อสร้างอาเซียนที่มีความยืดหยุ่น การตรวจหา/การเตือนภัยล่วงหน้า และฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ภูมิภาคยังคงความคล่องตัวและรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนในอนาคต

            3.2  ประเด็นเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ชาติสมาชิกฯ ควรเสริมสร้างสถาบันและกลไกความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรและให้ความสำคัญกับการสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อรักษาความมั่นคงอย่างยั่งยืน

            3.3  อาเซียนต้องรักษาความเป็นกลาง ในการเผชิญแรงกดดันจากอำนาจภายนอก ในประเด็นขัดแย้งต่าง ๆ เช่น กรณีปัญหาทะเลจีนใต้ อาเซียนควรดำเนินการต่อในเรื่องระเบียบการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (The Code of Conduct: COC) เพื่อเสถียรภาพและความสงบของทะเลจีนใต้ รวมถึงต้องรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในฐานะผู้กำหนดวาระของภูมิภาค และสนับสนุนความริเริ่มด้านเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาและเติบโตของภูมิภาคโดยไม่เลือกข้าง

            3.4  การที่อาเซียนจะสามารถส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้ต้องลงทุนระยะยาวเพื่อให้ประสบความสำเร็จในเรื่อง (1) เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ โดยการเอาชนะใจของประชาชน การเจรจาอย่างสันติและการปกครองตนเอง การแสดงตนของรัฐบาลในพื้นที่ที่อำนาจรัฐยังเข้าไม่ถึงมาก่อน และโอกาสทางเศรษฐกิจในรูปแบบการค้าแบบดั้งเดิม (2) ความมั่นคงชายแดนทางทะเล โดยสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนทางทะเลในระดับนานาชาติ

            3.5  ปัญหาการก่อการร้ายยังคงเป็นปัญหาที่กระทบทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมต่อชาติสมาชิกฯ ดังนั้นจึงควรมีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

            3.6  ในการเผชิญกับมหาอำนาจที่เข้ามาในภูมิภาค อาเซียนควรสร้างระเบียบภูมิภาคบนพื้นฐานของกฎหมาย คัดค้านการคุกคามโดยใช้กำลัง แก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการจัดทำระเบียบปฏิบัติ COC และส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง สร้างความเป็นปึกแผ่น และฉันทามติของชาติสมาชิกฯ

        

        4. การนำเสนอในช่วงที่สี่ หัวข้อ “Practical Cooperation for the Future of ASEAN Security” ที่ประชุมฯ ได้นำเสนอถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อการสร้างความมั่นคงของอาเซียนในอนาคต ได้แก่

            4.1  ชาติสมาชิกฯ ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ ดังนั้นอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ยังคงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือในทางปฏิบัติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดและความริเริ่มที่ได้รับความเห็นจาก ADMM ADMM-Plus และกลไกอื่น ๆ ต่อไป

            4.2  ชาติสมาชิกฯ และ ADMM ควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข่าวกรองในการต่อต้านการก่อการร้ายในลักษณะ “Our Eyes Initiative (OEI) หรือ ASEAN Our Eyes Initiative (AOEI)

            4.3  ชาติสมาชิกฯ ควรมีการส่งเสริมการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยเมื่อเกิดวิกฤติ เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม เป็นต้น อาเซียนควรกำหนดแนวทางในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติ และจัดทำ/ ออกแนวปฏิบัติ กฎ ระเบียบด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันของชาติสมาชิก

            4.4  ชาติสมาชิกฯ และ ADMM ควรเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารระดับชาติและระดับภูมิภาคในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ และควรจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วอาเซียน เพื่อเป็นการริเริ่มการพัฒนามาตรฐานในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกัน

            4.5  หัวข้อที่ชาติสมาชิกฯ สามารถร่วมมือกันได้ง่าย คือความร่วมมือในด้านการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย การต่อต้านการก่อการร้าย การแพทย์ทหาร และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์  โดยประเด็นที่สำคัญคือการรักษาไว้ซึ่งความเป็นแกนกลางของอาเซียน

        

        5. ที่ประชุมฯ มีข้อเสนอแนะร่วมกัน เพื่อให้ที่ประชุม ADMM พิจารณา ดังนี้

            5.1  ที่ประชุมฯ เห็นว่า การมองภาพอนาคตร่วมกันของอาเซียนยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงควรพิจารณาจัดการประชุม NADI Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้

            5.2  การต่อต้านการก่อร้าย ยังควรเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุม NADI Workshop ครั้งต่อไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของชาติสมาชิกฯ และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

            5.3  ภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นประเด็นที่เป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงของชาติสมาชิกฯ ดังนั้นชาติสมาชิกฯ ควรมีความพยายามมากขึ้นในการพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางไซเบอร์

            5.4  การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก ดังนั้นการประชุม NADI Workshop ในอนาคตควรเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการประชุม NADI Workshop ในครั้งต่อไป สามารถหารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการตอบสนองต่อความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น